วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

   ความผิดพลาด ในการผันวรรณยุกต์ที่พบมากในปัจจุบันก็คือ ออกเสียงวรรณยุกต์ ตามรูปวรรณยุกต์ที่ปรากฏ ซึ่งนับว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก คำในภาษาไทยนั้นอาจจะมีรูปและเสียงวรรณยุกต์ตรงกันหรือไม่ตรงกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับพยัญชนะต้นว่าเป็นอักษรสูง อักษรกลาง หรืออักษรต่ำ และเป็น คำเป็นหรือคำตาย นักเรียนควรทบทวนเรื่องเหล่านี้ให้เข้าใจก่อนที่จะศึกษาหลักการผันเสียงวรรณยุกต์

หลักการผันเสียงวรรณยุกต์ 

คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลาง ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ดังนี้

        1. คำเป็น ผันวรรณยุกต์ได้ครบ 4 รูป 5 เสียง รูปและเสียงวรรณยุกต์ตรงกัน เช่น อา อ่า อ้า อ๊า อ๋า พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ ผันด้วยไม้เอก เป็นเสียงเอก ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงโท ผันด้วยไม้ตรีเป็นเสียงตรี และผันด้วยไม้จัตวาเป็นเสียงจัตวา
        2. คำตาย ผันวรรณยุกต์ได้ 3 รูป 4 เสียง เริ่มด้วยเสียงเอก เช่น อะ อ้ะ อ๊ะ อ๋ะ คำ อะเสียงเอกไม่มีรูปวรรณยุกต์

คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ดังนี้

        1. คำเป็น ผันวรรณยุกต์ได้ 2 รูป 3 เสียง ขัน ขั่น ขั้น พื้นเสียงเป็นเสียงจัตวา ผันด้วยไม้เอก เป็นเสียงเอก ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงโท
        2. คำตาย ผันวรรณยุกต์ได้ 1 รูป 2 เสียง ขะ ข้ะ พื้นเสียงเป็นเสียงเอก ผันด้วยไม้โท เป็นเสียงโท

คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำ ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ดังนี้

        1. คำเป็น ผันวรรณยุกต์ได้ 2 รูป 3 เสียง คาน ค่าน ค้าน พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ ผันด้วยไม้เอก เป็นเสียงโท ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงตรี
        2. คำตาย สระเสียงยาว ผันได้ 2 รูป 3 เสียง คาด ค้าด ค๋าด พื้นเสียงเป็นเสียงโท ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงตรี ผันด้วยไม้จัตวา เป็นเสียงจัตวา
        3. คำตาย สระเสียงสั้น ผันได้ 2 รูป 3 เสียง คะ ค่ะ ค๋ะ พื้นเสียงเป็นเสียงตรี ผันด้วยไม้เอกเป็นเสียงโท ผันด้วยไม้จัตวาเป็นเสียงจัตวา
        4. อักษรคู่ ถ้าผันเสียงคู่กับอักษรสูงจะสามารถผันได้ครบ 5 เสียง เช่น คา ข่า ค่า-ข้า ค้า ขา
        5. อักษรเดี่ยว เมื่อมี หรืออักษรสูง หรืออักษรกลางมานำจะผันเสียงได้ตามอักษรที่นำ เช่น หนา หน่า หน้า หรือคำว่า ตลาดจะอ่านว่า ตะ-หลาดไม่ใช่ ตะ-ลาดเป็นต้น

โปรดสังเกตตาราง การผันวรรณยุกต์ ต่อไปนี้




จากตารางการผันวรรณยุกต์ จะพบว่า


        1. คำที่มี พยัญชนะต้น เป็นอักษรกลางและเป็นคำเป็น จะผันเสียงวรรณยุกต์ได้ครบทุกเสียง และรูปวรรณยุกต์กับเสียงวรรณยุกต์ตรงกันมากที่สุด
        2. คำที่มีเสียงวรรณยุกต์สามัญ มีเพียงคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลางและอักษรต่ำคำเป็นเท่านั้น
        3. คำที่มีพื้นเสียงเป็นเสียงจัตวานั้น มีเฉพาะคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง และ ห นำ อักษรเดี่ยว หรืออักษรสูงนำอักษรเดี่ยวคำเป็นเท่านั้น
        4. คำที่มีรูปและเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงกันเลย ได้แก่คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำ คำตายเท่านั้น
        5. คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำคำตาย ระหว่างสระเสียงสั้นกับสระเสียง ยาว จะผันเสียงวรรณยุกต์ต่างกัน ยกเว้นเสียงจัตวา
        6. คำที่ผันเสียงวรรณยุกต์ได้น้อยที่สุด คือ คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูงหรือ ห นำอักษรเดี่ยว หรืออักษรสูงนำอักษรเดี่ยว คำตาย

            นักเรียนสามารถนำตารางนี้ไปใช้ในการเทียบเสียงวรรณยุกต์ได้ โดยวิเคราะห์คำที่ต้องการทราบเสียงวรรณยุกต์ว่ามีพยัญชนะต้นเป็นอักษรชนิดใด คำนั้นเป็นคำเป็นหรือคำตาย ใช้สระเสียงสั้นหรือเสียงยาว และมีรูปวรรณยุกต์อะไร ต่อจากนั้นนำไปเทียบกับคำในตาราง ก็จะทราบได้ว่าคำนั้น มีเสียงวรรณยุกต์ใด ซึ่งหากนักเรียนฝึกเทียบเสียงคำบ่อย ๆ จะเกิดความชำนาญและสามารถวิเคราะห์ได้โดยไม่ต้องใช้ตาราง

            การเทียบเสียงวรรณยุกต์ของคำ อาจใช้วิธีเทียบกับอักษรกลาง หรือใช้เสียงพยัญชนะต้นเป็นเสียง ก็ได้ เช่นนักเรียนต้องการทราบว่า ร้องมีเสียงวรรณยุกต์ใด ก็เทียบกับคำเสียง ได้แก่ ออง อ่อง อ้อง อ๊อง อ๋อง จะพบว่า ร้องเสียงเท่ากับ อ๊องซึ่งเป็นเสียงตรี (อักษรกลาง คำเป็นผันด้วยไม้ตรี เป็นเสียงตรี) จึงบอกได้ว่า ร้องมีเสียงวรรณยุกต์ตรี เป็นต้น


            ข้อสำคัญ ผู้เรียนต้องออกเสียงคำคำนั้นอย่างถูกต้องด้วยจึงจะวิเคราะห์ด้วยวิธีนี้ได้ มิฉะนั้น ผู้เรียนก็จะต้องกลับไปทบทวนตารางผันวรรณยุกต์ให้เข้าใจ ว่าคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง กลาง หรือต่ำ และเป็นคำเป็น หรือคำตายนั้น มีพื้นเสียงเป็น เสียงอะไร ผันด้วยวรรณยุกต์อะไร เป็นเสียงอะไร ซึ่งผู้เรียนต้องใช้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอักษรไตรยางศ์และเรื่องคำเป็น คำตายเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น