วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

   ความผิดพลาด ในการผันวรรณยุกต์ที่พบมากในปัจจุบันก็คือ ออกเสียงวรรณยุกต์ ตามรูปวรรณยุกต์ที่ปรากฏ ซึ่งนับว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก คำในภาษาไทยนั้นอาจจะมีรูปและเสียงวรรณยุกต์ตรงกันหรือไม่ตรงกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับพยัญชนะต้นว่าเป็นอักษรสูง อักษรกลาง หรืออักษรต่ำ และเป็น คำเป็นหรือคำตาย นักเรียนควรทบทวนเรื่องเหล่านี้ให้เข้าใจก่อนที่จะศึกษาหลักการผันเสียงวรรณยุกต์

หลักการผันเสียงวรรณยุกต์ 

คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลาง ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ดังนี้

        1. คำเป็น ผันวรรณยุกต์ได้ครบ 4 รูป 5 เสียง รูปและเสียงวรรณยุกต์ตรงกัน เช่น อา อ่า อ้า อ๊า อ๋า พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ ผันด้วยไม้เอก เป็นเสียงเอก ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงโท ผันด้วยไม้ตรีเป็นเสียงตรี และผันด้วยไม้จัตวาเป็นเสียงจัตวา
        2. คำตาย ผันวรรณยุกต์ได้ 3 รูป 4 เสียง เริ่มด้วยเสียงเอก เช่น อะ อ้ะ อ๊ะ อ๋ะ คำ อะเสียงเอกไม่มีรูปวรรณยุกต์

คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ดังนี้

        1. คำเป็น ผันวรรณยุกต์ได้ 2 รูป 3 เสียง ขัน ขั่น ขั้น พื้นเสียงเป็นเสียงจัตวา ผันด้วยไม้เอก เป็นเสียงเอก ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงโท
        2. คำตาย ผันวรรณยุกต์ได้ 1 รูป 2 เสียง ขะ ข้ะ พื้นเสียงเป็นเสียงเอก ผันด้วยไม้โท เป็นเสียงโท

คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำ ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ดังนี้

        1. คำเป็น ผันวรรณยุกต์ได้ 2 รูป 3 เสียง คาน ค่าน ค้าน พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ ผันด้วยไม้เอก เป็นเสียงโท ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงตรี
        2. คำตาย สระเสียงยาว ผันได้ 2 รูป 3 เสียง คาด ค้าด ค๋าด พื้นเสียงเป็นเสียงโท ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงตรี ผันด้วยไม้จัตวา เป็นเสียงจัตวา
        3. คำตาย สระเสียงสั้น ผันได้ 2 รูป 3 เสียง คะ ค่ะ ค๋ะ พื้นเสียงเป็นเสียงตรี ผันด้วยไม้เอกเป็นเสียงโท ผันด้วยไม้จัตวาเป็นเสียงจัตวา
        4. อักษรคู่ ถ้าผันเสียงคู่กับอักษรสูงจะสามารถผันได้ครบ 5 เสียง เช่น คา ข่า ค่า-ข้า ค้า ขา
        5. อักษรเดี่ยว เมื่อมี หรืออักษรสูง หรืออักษรกลางมานำจะผันเสียงได้ตามอักษรที่นำ เช่น หนา หน่า หน้า หรือคำว่า ตลาดจะอ่านว่า ตะ-หลาดไม่ใช่ ตะ-ลาดเป็นต้น

โปรดสังเกตตาราง การผันวรรณยุกต์ ต่อไปนี้




จากตารางการผันวรรณยุกต์ จะพบว่า


        1. คำที่มี พยัญชนะต้น เป็นอักษรกลางและเป็นคำเป็น จะผันเสียงวรรณยุกต์ได้ครบทุกเสียง และรูปวรรณยุกต์กับเสียงวรรณยุกต์ตรงกันมากที่สุด
        2. คำที่มีเสียงวรรณยุกต์สามัญ มีเพียงคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลางและอักษรต่ำคำเป็นเท่านั้น
        3. คำที่มีพื้นเสียงเป็นเสียงจัตวานั้น มีเฉพาะคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง และ ห นำ อักษรเดี่ยว หรืออักษรสูงนำอักษรเดี่ยวคำเป็นเท่านั้น
        4. คำที่มีรูปและเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงกันเลย ได้แก่คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำ คำตายเท่านั้น
        5. คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำคำตาย ระหว่างสระเสียงสั้นกับสระเสียง ยาว จะผันเสียงวรรณยุกต์ต่างกัน ยกเว้นเสียงจัตวา
        6. คำที่ผันเสียงวรรณยุกต์ได้น้อยที่สุด คือ คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูงหรือ ห นำอักษรเดี่ยว หรืออักษรสูงนำอักษรเดี่ยว คำตาย

            นักเรียนสามารถนำตารางนี้ไปใช้ในการเทียบเสียงวรรณยุกต์ได้ โดยวิเคราะห์คำที่ต้องการทราบเสียงวรรณยุกต์ว่ามีพยัญชนะต้นเป็นอักษรชนิดใด คำนั้นเป็นคำเป็นหรือคำตาย ใช้สระเสียงสั้นหรือเสียงยาว และมีรูปวรรณยุกต์อะไร ต่อจากนั้นนำไปเทียบกับคำในตาราง ก็จะทราบได้ว่าคำนั้น มีเสียงวรรณยุกต์ใด ซึ่งหากนักเรียนฝึกเทียบเสียงคำบ่อย ๆ จะเกิดความชำนาญและสามารถวิเคราะห์ได้โดยไม่ต้องใช้ตาราง

            การเทียบเสียงวรรณยุกต์ของคำ อาจใช้วิธีเทียบกับอักษรกลาง หรือใช้เสียงพยัญชนะต้นเป็นเสียง ก็ได้ เช่นนักเรียนต้องการทราบว่า ร้องมีเสียงวรรณยุกต์ใด ก็เทียบกับคำเสียง ได้แก่ ออง อ่อง อ้อง อ๊อง อ๋อง จะพบว่า ร้องเสียงเท่ากับ อ๊องซึ่งเป็นเสียงตรี (อักษรกลาง คำเป็นผันด้วยไม้ตรี เป็นเสียงตรี) จึงบอกได้ว่า ร้องมีเสียงวรรณยุกต์ตรี เป็นต้น


            ข้อสำคัญ ผู้เรียนต้องออกเสียงคำคำนั้นอย่างถูกต้องด้วยจึงจะวิเคราะห์ด้วยวิธีนี้ได้ มิฉะนั้น ผู้เรียนก็จะต้องกลับไปทบทวนตารางผันวรรณยุกต์ให้เข้าใจ ว่าคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง กลาง หรือต่ำ และเป็นคำเป็น หรือคำตายนั้น มีพื้นเสียงเป็น เสียงอะไร ผันด้วยวรรณยุกต์อะไร เป็นเสียงอะไร ซึ่งผู้เรียนต้องใช้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอักษรไตรยางศ์และเรื่องคำเป็น คำตายเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์
ชนิดและหน้าที่ของประโยค

ความหมายและส่วนประกอบของประโยค
ความหมายของประโยค
ประโยค เกิดจากคำหลายๆคำ หรือวลีที่นำมาเรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบให้แต่ละคำมีความสัมพันธ์กัน มีใจความสมบูรณ์ แสดงให้รู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เช่น สมัครไปโรงเรียน ตำรวจจับคนร้าย เป็นต้น 

ส่วนประกอบของประโยค
ประโยคหนึ่ง ๆ จะต้องมีภาคประธานและภาคแสดงเป็นหลัก และอาจมีคำขยายส่วนต่าง ๆ ได้

1. ภาคประธาน
ภาคประธานในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ทำหน้าที่เป็นผู้กระทำ ผู้แสดงซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประโยค ภาคประธานนี้ อาจมีบทขยายซึ่งเป็นคำหรือกลุ่มคำมาประกอบ เพื่อทำให้มีใจความชัดเจนยิ่งขึ้น

2. ภาคแสดง
ภาคแสดงในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ประกอบไปด้วยบทกริยา บทกรรมและส่วนเติมเต็ม บทกรรมทำหน้าที่เป็นตัวกระทำหรือตัวแสดงของประธาน ส่วนบทกรรมทำหน้าที่เป็นผู้ถูกกระทำ และส่วนเติมเต็มทำหน้าที่เสริมใจความของประโยคให้สมบูรณ์ คือทำหน้าที่คล้ายบทกรรม แต่ไม่ใช้กรรม เพราะมิได้ถูกกระทำ

ชนิดของประโยค
ประโยคในภาษาไทยแบ่งเป็น 3 ชนิด ตามโครงสร้างการสื่อสารดังนี้

1. ประโยคความเดียว
ประโยคความเดียว คือ ประโยคที่มีข้อความหรือใจความเดียว ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เอกรรถประโยค เป็นประโยคที่มีภาคประโยคเพียงบทเดียว และมีภาคแสดงหรือกริยาสำคัญเพียงบทเดียว หากภาคประธานและภาคแสดงเพิ่มบทขยายเข้าไป ประโยคความเดียวนั้นก็จะเป็นประโยคความเดียวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น


2. ประโยคความรวม
ประโยคความรวม คือ ประโยคที่รวมเอาโครงสร้างประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไปเข้าไว้ในประโยคเดียวกัน โดยมีคำเชื่อมหรือสันธานทำหน้าที่เชื่อมประโยคเหล่านั้นเข้าด้วยกัน ประโยคความรวมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อเนกกรรถประโยค ประโยคความรวมแบ่งใจความออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 


2.1 ประโยคที่มีความคล้อยตามกัน ประโยคความรวมชนิดนี้ประกอบด้วยประโยคเล็กตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไป มีเนื้อความคล้อยตามกันในแง่ของความเป็นอยู่ เวลา และการกระทำ
ตัวอย่าง
• ทรัพย์ และ สินเป็นลูกชายของพ่อค้าร้านสรรพพาณิชย์
• ทั้ง ทรัพย์ และ สินเป็นนักเรียนโรงเรียนอาทรพิทยาคม
• ทรัพย์เรียนจบโรงเรียนมัธยม แล้ว ก็ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา
• พอ สินเรียนจบโรงเรียนมัธยม แล้ว ก็ มาช่วยพ่อค้าขาย
สันธานที่ใช้ใน 4 ประโยค ได้แก่ และทั้ง – และแล้วก็พอ – แล้วก็

หมายเหตุ : คำ “แล้ว” เป็นคำช่วยกริยา มิใช่สันธานโดยตรง

2.2 ประโยคที่มีความขัดแย้งกัน ประโยคความรวมชนิดนี้ ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยค มีเนื้อความที่แย้งกันหรือแตกต่างกันในการกระทำ หรือผลที่เกิดขึ้น
ตัวอย่าง
• พี่ตีฆ้อง แต่ น้องตีตะโพน
• ฉันเตือนเขาแล้ว แต่ เขาไม่เชื่อ

2.3 ประโยคที่มีความให้เลือก ประโยคความรวมชนิดนี้ ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยคและกำหนดให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ตัวอย่าง
• ไปบอกนายกิจ หรือ นายก้องให้มานี่คนหนึ่ง
• คุณชอบดนตรีไทย หรือ ดนตรีสากล

2.4 ประโยคที่มีความเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ประโยคความรวมชนิดนี้ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2ประโยค ประโยคแรกเป็นเหตุประโยคหลังเป็นผล
ตัวอย่าง
• เขามีความเพียรมาก เพราะฉะนั้น เขา จึง ประสบความสำเร็จ
• คุณสุดาไม่อิจฉาใคร เธอ จึง มีความสุขเสมอ

ข้อสังเกต
• สันธานเป็นคำเชื่อมที่จ้ำเป็นต้องมีประโยคความรวม และจะต้องใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อความในประโยค ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สันธานเป็นเครื่องกำหนดหรือชี้บ่งว่าประโยคนั้นมีใจความแบบใด
• สันธานบางคำประกอบด้วยคำสองคำ หรือสามคำเรียงอยู่ห่างกัน เช่น ฉะนั้น – จึงทั้ง – และแต่ – ก็ สันธานชนิดนี้เรียกว่า “สันธานคาบ” มักจะมีคำอื่นมาคั่นกลางอยู่จึงต้องสังเกตให้ดี
• ประโยคเล็กที่เป็นประโยคความเดียวนั้น เมื่อแยกออกจากประโยคความรวมแล้ว ก็ยังสื่อความหมายเป็นที่เข้าใจได้



3. ประโยคความซ้อน
        ประโยคความซ้อน คือ ประโยคที่มีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว ประกอบด้วยประโยคความเดียวที่มีใจความสำคัญ เป็นประโยคหลัก (มุขยประโยค) และมีประโยคความเดียวที่มีใจความเป็นส่วนขยายส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคหลัก เป็นประโยคย่อยซ้อนอยู่ในประโยคหลัก (อนุประโยค) โดยทำหน้าที่แต่งหรือประกอบประโยคหลัก ประโยคความซ้อนนี้เดิม เรียกว่า สังกรประโยค
อนุประโยคหรือประโยคย่อยมี 3 ชนิด ทำหน้าที่ต่างกัน ดังต่อไปนี้

3.1 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่แทนนาม (นามานุประโยค) อาจใช้เป็นบทประธานหรือบทกรรม หรือส่วนเติมเต็มก็ได้ ประโยคย่อยนี้เป็นประโยคความเดียวซ้อนอยู่ในประโยคหลักไม่ต้องอาศัยบทเชื่อมหรือคำเชื่อม

ตัวอย่างประโยคความซ้อนที่เป็นประโยคย่อยทำหน้าที่แทนนาม
• คนทำดีย่อมได้รับผลดี
คน...ย่อมได้รับผลดี : ประโยคหลัก
คนทำดี : ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทประธาน

• ครูดุนักเรียนไม่ทำการบ้าน
ครูดุนักเรียน : ประโยคหลัก
นักเรียนไม่ทำการบ้าน : ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทกรรม
3.2 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เป็นบทขยายประธานหรือบทขยายกรรมหรือบทขยายส่วนเติมเต็ม (คุณานุประโยค) แล้วแต่กรณี มีประพันธสรรพนาม (ที่ ซึ่ง อัน ผู้) เชื่อมระหว่างประโยคหลักกับประโยคย่อย
ตัวอย่างประโยคความซ้อนที่ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทขยาย

• คนที่ประพฤติดีย่อยมีความเจริญในชีวิต
ที่ประพฤติ ขยายประธาน คน
คน...ย่อมมีความเจริญในชีวิต : ประโยคหลัก
- (คน) ประพฤติดี : ประโยคย่อย

• ฉันอาศัยบ้านซึ่งอยู่บนภูเขา
ซึ่งอยู่บนภูเขา ขยายกรรม บ้าน
ฉันอาศัยบ้าน : ประโยคหลัก
- (บ้าน) อยู่บนภูเขา : ประโยคย่อย
3.3 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เป็นบทขยายคำกริยา หรือบทขยายคำวิเศษณ์ในประโยคหลัก (วิเศษณานุประโยค) มีคำเชื่อม (เช่น เมื่อ จน เพราะ ตาม ให้ ฯลฯ) ซึ่งเชื่อมระหว่างประโยคหลักกับประโยคย่อย


ตัวอย่างประโยคความซ้อนที่ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทกริยาหรือบทขยายวิเศษณ์

• เขาเรียนเก่งเพราะเขาตั้งใจเรียน
เขาเรียนเก่ง : ประโยคหลัก
(เขา) ตั้งใจเรียน : ประโยคย่อยขยายกริยา

• ครูรักศิษย์เหมือนแม่รักลูก
ครูรักศิษย์ : ประโยคหลัก
แม่รักลูก : ประโยคย่อย (ขยายส่วนเติมเต็มของกริยาเหมือน)


หน้าที่ของประโยค
        ประโยคต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารย่อมแสดงถึงเจตนาของผู้ส่งสาร เช่น บอกกล่าว  เสนอแนะ อธิบาย ซักถาม ขอร้อง วิงวอน สั่งห้าม เป็นต้น หากจะแบ่งประโยคตามหน้าที่หรือลักษณะที่ใช้ในการสื่อสาร สามารถแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้
1. บอกเล่าหรือแจ้งให้ทราบ
เป็นประโยคที่มีเนื้อความบอกเล่าบ่งชี้ให้เห็นว่า ประธานทำกริยา อะไร ที่ไหน อย่างไร และเมื่อไหร่ เช่น
ฉันไปพบเขามาแล้ว
เขาเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ
2. ปฏิเสธ
เป็นประโยคมีเนื้อความปฏิเสธ จะมีคำว่า ไม่ ไม่ได้ หามิได้ มิใช่ ใช่ว่า ประกอบอยู่ด้วยเช่น
เรา ไม่ได้ ส่งข่าวถึงกันนานแล้ว
นั่น มิใช่ ความผิดของเธอ
3. ถามให้ตอบ
เป็นประโยคมีเนื้อความเป็นคำถาม จะมีคำว่า หรือ ไหม หรือไม่ ทำไม เมื่อไร ใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร อยู่หน้าประโยคหรือท้ายประโยค เช่น
เมื่อคืนคุณไป ที่ไหน มา
เธอเห็นปากกาของฉัน ไหม
4. บังคับ ขอร้อง และชักชวน
เป็นประโยคที่มีเนื้อความเชิงบังคับ ขอร้อง และชักชวน โดยมีคำอนุภาค หรือ คำเสริมบอกเนื้อความของประโยค เช่น
ห้าม เดินลัดสนาม
กรุณา พูดเบา

         การเรียบเรียงถ้อยคำเป็นประโยคความเดียว ประโยคความรวม และประโยคความซ้อน สามารถขยายให้เป็นประโยคยาวขึ้นได้ด้วยการใช้คำ กลุ่มคำ หรือประโยค เป็นส่วนขยาย ยิ่งประโยคมีส่วนขยายหรือองค์ประกอบมากส่วนเพียงใด ก็จะยิ่งทำให้การสื่อสารเกิดความเข้าใจต่อกันมากขึ้นเพียงนั้น ข้อสำคัญ คือ ต้องเข้าใจรูปแบบประโยค การใช้คำเชื่อมและคำขยาย ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงเจตนาในการส่งสารด้วย ผู้มีทักษะในการเรียบเรียงประโยคสามารถพัฒนาไปสู่การเขียน เล่า บอกเรื่องราวที่ยืดยาวได้ตามเจตนาของการสื่อสาร ดังนั้นผู้ใช้ภาษาจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจโครงสร้างประโยค และวิธีการสร้างประโยคให้แจ่มแจ้งชัดเสียก่อนจะทำให้การสื่อสารเกิดประสิทธิผล และสามารถใช้ภาษาสื่อสารให้เกิดความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น



คำราชาศัพท์

คำราชาศัพท์ หมายถึง คําเฉพาะใช้สําหรับเพ็ดทูลพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวงศ์ และเจ้านาย ต่อมาหมายรวมถึงคําที่ใช้กับพระภิกษุสงฆ์ ข้าราชการ และสุภาพชน

คําราชาศัพท์หมวดเครื่องใช้

 พระวิสูตรหรือพระสูตร หมายถึง ม่านหรือมุ้ง

 พระเขนย หมายถึง หมอน

 พระทวาร หมายถึง ประตู

 พระบัญชร หมายถึง หน้าต่าง

 พระสุวรรณภิงคาร หมายถึง คนโทน้ำ

 ฉลองพระหัตถ์ช้อน หมายถึง ช้อน 

 ฉลองพระหัตถ์ส้อม หมายถึง ส้อม

 ฉลองพระหัตถ์ตะเกียบ หมายถึง ตะเกียบ 

 แก้วน้ำเสวย หมายถึง แก้วน้ำ

 พระสาง หมายถึง หวี

 พระแสงกรรบิด หมายถึง มีดโกน 

 ซับพระองค์ หมายถึง ผ้าเช็ดตัว

 ซับพระพักตร์ หมายถึง ผ้าเช็ดหน้า

 ผ้าพันพระศอ หมายถึง ผ้าพันคอ 

 พระภูษา หมายถึง ผ้านุ่ง

 นาฬิกาข้อพระหัตถ์ หมายถึง นาฬิกาข้อมือ

 พระฉาย หมายถึง กระจกส่อง

 ธารพระกร หมายถึง ไม้เท้า

 พระแท่นบรรทม หมายถึง เตียงนอน

 พระราชอาสน์ หมายถึง ที่นั่ง 

 โต๊ะทรงพระอักษร หมายถึง โต๊ะเขียนหนังสือ

 พระราชหัตถเลขา หมายถึง จดหมาย

 ฉลองพระเนตร หมายถึง แว่นตา

 พระที่นั่งเก้าอี้หรือเก้าอี้ประทับ หมายถึง เก้าอี้นั่ง 

 พระเขนย หมายถึง หมอนหนุน

 เครื่องพระสุคนธ์ หมายถึง เครื่องหอม เช่น น้ำหอม แป้งผัดหน้า

 เครื่องพระสำอาง หมายถึง เครื่องประทินผิวหรือเครื่องสำอาง

 อ่างสรง หมายถึง อ่างอาบน้ำ

 กระเป๋าทรง หมายถึง กระเป๋าถือ

 พระแสงปนาค หมายถึง กรรไกร




คําราชาศัพท์หมวดร่างกาย

 พระอุระหรือพระทรวง หมายถึง อก

 พระหทัยหรือพระกมล หมายถึง หัวใจ

 พระอุทร หมายถึง ท้อง

 พระนาภี หมายถึง สะดือ

 พระกฤษฎีหรือบั้นพระองค์  หมายถึง สะเอว

 พระปรัศว์ หมายถึง สีข้าง

 พระผาสุกะ หมายถึง ซี่โครง

 พระเศียร หมายถึง  ศีรษะ

 พระนลาฏ หมายถึง หน้าผาก

 พระขนงหรือพระภมู หมายถึง คิ้ว

 พระเนตรหรือพระจักษุ หมายถึง ดวงตา

 พระนาสิกหรือพระนาสา หมายถึง จมูก

 พระปราง หมายถึง แก้ม

 พระโอษฐ์ หมายถึง ปาก  ริมฝีปาก

 ต้นพระหนุ หมายถึง ขากรรไกร

 พระกรรณ หมายถึง หูหรือใบหู

 พระพักตร์ หมายถึง ดวงหน้า

 พระศอ หมายถึง คอ

 พระรากขวัญ หมายถึง ไหปลาร้า

 พระอังสกุฏ หมายถึง จะงอยบ่า

 พระกร หมายถึง แขน

 พระกัประหรือพระกะโประ หมายถึง ข้อศอก

 พระกัจฉะ หมายถึง รักแร้

 พระหัตถ์ หมายถึง มือ

 ข้อพระกรหรือข้อพระหัตถ์ หมายถึง ข้อมือ

 พระปฤษฏางค์หรือพระขนอง หมายถึง หลัง

 พระโสณี หมายถึง ตะโพก

 พระที่นั่ง หมายถึง ก้น

 พระอูรุ หมายถึง ต้นขา

 พระเพลา หมายถึง ขาหรือตัก

 พระชานุ หมายถึง เข่า

 พระชงฆ์ หมายถึง แข้ง

 หลังพระชงฆ์ หมายถึง น่อง

 พระบาท หมายถึง เท้า

 ข้อพระบาท หมายถึง ข้อเท้า

 พระปราษณีหรือส้นพระบาท หมายถึง ส้นเท้า

 พระฉวี หมายถึง ผิวหนัง

 พระโลมา หมายถึง ขน

 พระพักตร์  หมายถึง ใบหน้า

 พระมังสา แปลว่า เนื้อ


คําราชาศัพท์หมวดอาหาร


 เครื่องเสวย หมายถึง ของกิน

 เครื่องคาว หมายถึง ของคาว

 เครื่องเคียง หมายถึง ของเคียง

 เครื่องว่าง หมายถึง ของว่าง

 เครื่องหวาน หมายถึง ของหวาน

 พระกระยาหาร หมายถึง ข้าว

 พระกระยาต้ม หมายถึง ข้าวต้ม

 ขนมเส้น หมายถึง ขนมจีน

 ผักรู้นอน หมายถึง ผักกระเฉด

 ผักสามหาว หมายถึง ผักตบ

 ผักทอดยอด หมายถึง ผักบุ้ง

 ฟักเหลือง หมายถึง ฟักทอง

 ถั่วเพาะ หมายถึง ถั่วงอก 

 พริกเม็ดเล็ก หมายถึง พริกขี้หนู    

 เห็ดปลวก  หมายถึง เห็ดโคน

 เยื่อเคย หมายถึง กะปิ

 ปลาหาง หมายถึง ปลาช่อน

 ปลาใบไม้  หมายถึง ปลาสลิด

 ปลายาว  หมายถึง ปลาไหล

 ปลามัจฉะ หมายถึง ปลาร้า

 ลูกไม้ หมายถึง ผลไม้        

  กล้วยเปลือกบางหรือกล้วยกระ หมายถึง กล้วยไข่

 ผลมูลละมั่ง หมายถึง ลูกตะลิงปลิง

 ผลอุลิด หมายถึง ลูกแตงโม

 ผลอัมพวา หมายถึง ผลมะม่วง        

 นารีจำศีล หมายถึง กล้วยบวชชี

 ขนมดอกเหล็กหรือขนมทราย หมายถึง ขนมขี้หนู

 ขนมสอดไส้ หมายถึง ขนมใส่ไส้

 ขนมทองฟู หมายถึง ขนมตาล

 ขนมบัวสาว หมายถึง ขนมเทียน


คําราชาศัพท์หมวดเครือญาติ

 พระอัยกา หมายถึง ปู่หรือตา

 พระอัยยิกา หมายถึง ย่าหรือยาย 

 พระปัยกา หมายถึง ปู่ทวดหรือตาทวด 

 พระปัยยิกา หมายถึง ย่าทวดหรือยายทวด 

 พระชนกหรือพระราชบิดา หมายถึง พ่อ

 พระชนนีหรือพระราชมารดา หมายถึง แม่

 พระสสุระ หมายถึง พ่อสามี 

 พระสัสสุ หมายถึง แม่สามี

 พระปิตุลา หมายถึง ลุงหรืออาชาย 

 พระปิตุจฉา หมายถึง ป้าหรืออาหญิง 

 พระมาตุลา หมายถึง ลุงหรือน้าชาย

 พระมาตุจฉา หมายถึง ป้าหรือน้าหญิง

 พระสวามีหรือพระภัสดา หมายถึง สามี 

 พระมเหสีหรือพระชายา หมายถึง ภรรยา

 พระเชษฐา หมายถึง พี่ชาย 

 พระเชษฐภคินี หมายถึง พี่สาว 

 พระอนุชา หมายถึง น้องชาย 

 พระขนิษฐา หมายถึง น้องสาว 

 พระราชโอรสหรือพระเจ้าลูกยาเธอ หมายถึง ลูกชาย 

 พระราชธิดาพระเจ้าลูกเธอ หมายถึง ลูกสาว 

 พระชามาดา หมายถึง ลูกเขย 

 พระสุณิสา หมายถึง ลูกสะใภ้ 

 พระราชนัดดา หมายถึง หลานชายหรือหลานสาว

 พระภาคิไนย หมายถึง หลานที่เป็นลูกของพี่สาวหรือน้องสาว

 พระภาติยะ หมายถึง หลานที่ลูกของพี่ชาย หรือน้องชาย

 พระราชปนัดดา หมายถึง เหลน 

คําราชาศัพท์หมวดกริยา

 พระราชดำรัส หมายถึง คำพูด

 ตรัส หมายถึง พูดด้วย

 เสด็จพระราชดำเนิน หมายถึง เดินทางไปที่ไกล ๆ

 เสด็จลง… หมายถึง เดินทางไปที่ใกล้ ๆ

 ทรงพระราชนิพนธ์ หมายถึง แต่งหนังสือ

 ทรงพระกาสะ หมายถึง ไอ

 ทรงพระสรวล หมายถึง หัวเราะ

 ทรงพระปรมาภิไธย หมายถึง ลงลายมือชื่อ

 ทรงสัมผัสมือ หมายถึง จับมือ

 ทรงพระเกษมสำราญ หมายถึง สุขสบาย

 ทรงพระปินาสะ หมายถึง จาม

 พระราชโองการ หมายถึง คำสั่ง

 พระราโชวาท หมายถึง คำสั่งสอน

 พระราชปฏิสันถาร หมายถึง ทักทาย

 มีพระราชประสงค์ หมายถึง อยากได้

 สรงพระพักตร์ หมายถึง ล้างหน้า

 ชำระพระหัตถ์ หมายถึง ล้างมือ

 พระราชปฏิสันถาร หมายถึง ทักทายปราศรัย

 เสด็จประพาส หมายถึง ไปเที่ยว

 พระราชปุจฉา หมายถึง ถาม

 ถวายบังคม หมายถึง ไหว้

 พระบรมราชวินิจฉัย หมายถึง ตัดสิน

 ทอดพระเนตร หมายถึง ดู

 พระราชทาน หมายถึง ให้

 พระราชหัตถเลขา หมายถึง เขียนจดหมาย     

 ทรงเครื่อง หมายถึง แต่งตัว

 ทรงพระอักษร หมายถึง เรียน เขียน อ่าน

 ประทับ หมายถึง นั่ง

 ทรงยืน หมายถึง ยืน

 บรรทม หมายถึง นอน


            ทั้งนี้ สำหรับคำว่า พระราชโองการ และพระราโชวาท หากใช้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีคำว่า "บรม" นำหน้าคำว่า "ราช" เสมอ